นักท่องเที่ยวสามารถเที่ยวรอบเกาะโดยการเช่ารถขับเที่ยวเอง ไปกับขบวนรถจี๊บ หรือจะเช่าแท๊กซี่ให้เขาขับพาเที่ยวก็ได้ เราเลือกรถแท๊กซี่ซึ่งเป็นรถตู้ติดแอร์เย็นฉ่ำ ให้เขาพาไปเที่ยวรอบเกาะ สนนราคาก็พอจ่ายได้ ไม่ถึง 200 เหรียญอเมริกัน สำหรับสองคน ซึ่งก็ดีไม่น้อยเพราะมีความเป็นส่วนตัว จะแวะที่ไหนนานเท่าไหร่ก็ได้
วันพุธรถมารับที่รีสอร์ทเวลา 9 โมงตรง ขับวนไปทางทิศตะวันตกชมวิวรอบ ๆ เกาะ เขาพาเราไปแวะที่ Curtain Bluff หาดที่สวยงามอีกแห่งหนึ่ง
ที่นี่ยังเป็นที่ตั้งของรีสอร์ทราคาแพงชื่อเดียวกัน แวะถ่ายรูป ชมชายหาดอันสวยงามซักพัก ก็ไปต่อ
เกาะแอนที้ก้ามีประชากรประมาณ 7 หมื่นกว่าคน พื้นที่สูง ๆ ต่ำ ๆ มีทั้งชายหาด หนองน้ำ ที่ราบและภูเขา แต่ก่อนเคยปลูกอ้อยเป็นเศรษฐกิจหลัก เดี๋ยวนี้ต้องพึ่งการท่องเที่ยวเพื่อหาเงินเข้าประเทศ ไม่มีใครอยากทำการเกษตรกรรมอีกแล้ว ถึงแม้จะยังมีการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์อยู่บ้างแต่อาหารส่วนใหญ่ก็นำเข้ามาจากเกาะเพื่อนบ้านอย่างเกาะโดมินิกัน เป็นต้น
เราผ่านส่วนที่เรียกว่า Fig Tree Drive (ฟิกทรีไดร์ฟ) ซึ่งเป็นเส้นทางขับรถที่นิยมของนักท่องเที่ยว เห็นชื่อทีแรกนึกว่ามีต้นมะเดื่อเรียงราย ที่ไหนได้ คำว่า Fig เป็นภาษาพื้นเมืองแปลว่าต้นกล้วย ดังนั้นเส้นทางสายนี้ก็เต็มไปด้วยต้นกล้วย พร้อมกันต้นไม้อื่น ๆ เช่น มะม่วง มะพร้าว หรือพืชเตี้ย ๆ อย่าง สับปะรด ด้วย แต่โดยรวมแล้วถือเป็นเขตป่าไม้สำคัญของเกาะเลยทีเดียว
เกาะ Antigua มีการปลูกสับปะรดพันธุ์สีดำ (Black pineapple) เป็นเอกลักษณ์ของเกาะ สับปะรดพันธุ์นี้รูปร่างเหมือนกับสับปะรดภูเก็ตบ้านเรา แต่เมื่อเราแวะชิมดูแล้วปรากฏว่ารสชาติไม่หวานเท่า คิดว่าอาจรูปร่างเหมือนกันเท่านั้นเอง
เราแวะเข้าไปเที่ยวที่ท่าจอดเรืออุทยานแห่งชาติเนลสัน (Nelson’s Dockyard National Park) ซึ่งถือเป็นท่าจอดเรือตั้งแต่สมัยจอร์เจียน (Georgian Dockyard) ที่ยังคงใช้งานมาจนถึงทุกวันนี้
อุทยานแห่งชาตินี้ประกอบไปด้วยตัวอาคารประชาสัมพันธ์ดาวส์ฮิลล์ (Dow’s Hill Historical Centre) ที่เราชมการบรรยายเกี่ยวกับประวัติของเกาะนี้ตั้งแต่สมัยที่ยึดครองโดยประเทศอังกฤษมีการนำทาสจากอัฟริกาเข้าเป็นแรงงานในไร่อ้อย เพื่อทำเป็นรัม และเนื่องจากเกาะนี้อยู่ใกล้กับเกาะต่าง ๆ ในอาณานิคมของดัทช์ และฝรั่งเศส อังกฤษต้องสร้างฐานทัพบนเกาะนี้เพื่อปกปัองแผ่นดินและไร่อ้อยอันมีค่ามหาศาลในสมัยนั้น พอเขาเลิกผลิตรัมคนอังกฤษก็ย้ายออกจากเกาะ ตอนนี้คนที่หลงเหลืออยู่คือคนผิวดำเท่านั้นเอง
เนื่องจากที่ตั้งของศูนย์ประชาสัมพันธ์เป็นที่สูง สามารถชมวิวหน้าผาอันสวยงามได้โดยรอบ
ซึ่งจะมองเห็นอิงลิชฮาร์เบอร์ (English Harbour) และ Nelson’s Dockyard อย่างชัดเจน
จากนั้นเราก็ไปผาเชอร์ลีย์ ไฮทส์ (Shirley Heights) ซึ่งเป็นที่ตั้งเดิมของป้อมปราการแห่งหนึ่ง ปัจจุบันมีการจัดงานขายอาหาร เครื่องดื่มและการแสดงพื้นเมืองต่าง ๆ ทุกวันอาทิตย์ ซึ่งอยู่ในเขตอุทยานนี้ด้วย
สุดท้ายของอุทยานก็ไปสิ้นสุดที่ Nelson’s Dockyard ซึ่งนอกจากจะเป็นสถานที่จอดเรือแล้ว ยังมีส่วนของการแสดงพิพิธภัณฑ์ ประวัติชีวิตของ Nelson ชื่อเจ้าของสถานที่ มีร้านขายของที่ระลึกต่าง ๆ และโรงแรม ร้านอาหารด้วย
จาก Nelson’s Dockyard ขับรถอีกประมาณ ครึ่งชั่วโมง เราก็แวะไปเที่ยวชมสะพานปีศาจ Devils Bridge ซึ่งเป็นผาหินที่ถูกน้ำเซาะกลายเป็นสะพานธรรมชาติ ที่เราไม่กล้าเดินข้าม เพราะกลัวถูกคลื่นเซาะพัดพาลงทะเลไปนะสิจ๊ะ
ใกล้ ๆ กับสะพานปีศาจ ก็แวะไปชมลองบีช (Long Beach) หาดสวยทรายขาวอีกแห่งหนึ่ง ที่มีรีสอร์ทราคาแพงขึ้นเรียงราย และเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว มาว่ายน้ำและดูปะการังน้ำตื้น
จุดสุดท้ายของการเที่ยวเกาะคือเบ็ทตี้ส์ โฮป (Betty’s Hope) โรงงานผลิตน้ำอ้อยเพื่อทำรัมแห่งแรกของเกาะ ที่เขาได้ปรับปรุงซ่อมแซมโรงบดอ้อยกังหันลม เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ไว้ให้ลูกหลานและนักท่องเที่ยวได้เยี่ยมชม สมัยนี้ไม่มีโรงงานผลิตอ้อยบนเกาะแล้ว เศรษฐกิจของเกาะโดยหลักคือการท่องเที่ยวเท่านั้นเอง
สิ้นสุดทัวร์กลับมารีสอร์ทหลังสามโมงเย็น
มีต่อตอนต่อไป
No comments:
Post a Comment