สถานที่ที่เราจะไปในวันนี้เป็นป่าอนุรักษ์ชานเมืองโตรอนโต เป็นสถานที่นิยมสำหรับเด็ก ๆ ยิ่งช่วงวันหยุดในเดือนมีนาคมยิ่งดีใหญ่ คนเยอะ แบบลานจอดรถสองลานเต็มเลยล่ะ
เราเริ่มด้วยทัวร์ 1 ชั่วโมง มีไกด์นำ เขาอธิบายการเจาะเก็บน้ำตาลเมเปิ้ล และสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ดงเมเปิ้ลที่ใช้ทำน้ำตาลเขาเรียกว่า Sugar Bush ซึ่งช่วงนี้มีแต่ต้นสล้าง ใบร่วงไปเมื่อฤดูที่แล้วยังไม่งอก จึงดูค่อนข้างแห้งแล้ง
แอบดูน้ำตาลใส ไหลหยดติ๋ง ๆ รสชาติเหมือนน้ำเปล่า น้ำที่ได้จากต้นเมเปิ้ล 40 ลิตร ทำน้ำตาลได้ลิตรเดียว แหม มิน่าแพงจังเนอะ
ที่ฟาร์มมีต้นเมเปิ้ลมากมาย ส่วนหนึ่งน้ำหวานจะถูกเจาะและรองรับในถังไว้โชว์เทคโนโลยี่ดั้งเดิม มีจุดบรรยายการเจาะและทำน้ำตาลของคนอินเดียนท้องถิ่นสมัยนู้น
ซึ่งเขาทำให้มันระเหยโดยการเอาน้ำตาลที่รองได้ใส่ในถังที่เจาะจากลำต้นของต้นไม้ แล้วเราหินเผาไฟจุ่มลงไป พอใส่หินร้อน ๆ ลงไปเยอะน้ำมันก็ร้อน และเดือดระเหยออกไป ใช้เวลา 3 วันกว่าจะได้น้ำตาลมาใช้ ช่างอดทนกันจริง
จุดบรรยายถัดมาเป็นคนผิวขาวจากยุโรปที่มาตั้งรกรากในทวีปอเมริกาเหนือ หรือเรียกว่าพวกไพโอเนีย มีถังโลหะใช้รองรับน้ำตาล มีการต้มน้ำตาลในหม้อโลหะ เรียงกันสามหม้อ พอผ่านไปสี่ – ห้าชั่วโมง ก็ตักถ่ายไปใส่หม้อต้มถัดไป เพื่อจะเิติมน้ำตาลใหม่ในหม้อแรก วนเวียนเป็นอย่างนี้ ใช้เวลา 1 วันกว่าจะได้มาซึ่งน้ำตาลเมเปิ้ลหอมอร่อย
จุดนี้มีน้ำตาลให้ลองชิมด้วย หวาน หอม อร่อยลิ้น และเพราะอากาศค่อนข้างเย็นวันนี้ น้ำตาลเลยหนืดมากกว่าปรกติ
พอมาถึงสมัยปัจจุบันเขาก็ไม่ใช้ถังแล้ว เปลี่ยนมาใช้สายยางพ่วงแทน ต่อสายยางเป็นระบบ จนถึงโรงต้มน้ำตาลเลยทีเดียว เพราะเทคโนโลยีสมัยใหม่นี้สามารถทำน้ำตาลเมเปิ้ลได้ภายในเวลา 6 ชั่วโมงเอง
น้ำตาลเมเปิ้ลตามมาตรฐานของแคนาดาต้องมีระดับน้ำตาล 66 เปอร์เซ็นต์ และน้ำตาลที่ถือว่ามีคุณภาพคือน้ำตาลต้นฤดู น้ำตาลจะเป็นน้ำตาลอ่อน ไม่เข้ม
หลังจบทัวร์ก็ถึงเวลาสำคัญแหละ นั่นคือการกินแพนเค้กราดน้ำตาลเมเปิ้ลรสอร่อย เดินกับทัวร์ออกกำลังตั้งหนึ่งชั่วโมง แพนเค้กสองแผ่นแล้วกันนะ